เทศบาลเมืองลพบุรีเทศบาลเมืองลพบุรีเทศบาลเมืองลพบุรี จันทร์ - ศุกร์ 08:30-16:30 036 411 047 จันทร์ - ศุกร์ 08:30-16:30 036 411 047
saraban@lopburicity.go.th

วัดเสาธงทอง

วัดเสาธงทอง เป็นวัดเก่าแก่แห่งหนึ่งของจังหวัดลพบุรี ตั้งอยู่ติดถนนฝรั่งเศส (Rule de France) ตรงข้ามตลาดสดเทศบาลเมืองลพบุรี ด้านหลังใกล้กับท่าขุนนางริมแม่น้ำลพบุรี ทิศเหนือ ใกล้กับบ้านหลวงรับราชทูต ทิศใต้ใกล้กับพระนารายณ์ราชนิเวศน์ เดิมแยกเป็น  2  วัด คือ วัดรวก และวัดเสาธงทอง พระยาโบราณราชธานินทร์ (พร เตชะคุปต์) สมุหเทศาภิบาลมณฑลอยุธยา ได้รายงานกราบทูลเสนอความเห็นต่อสมเด็จ
พระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส เมื่อคราวเสด็จตรวจการคณะสงฆ์ในมณฑลอยุธยาว่า

วัดรวกมีโบสถ์ ส่วนวัดเสาธงทองมีวิหารสมควรจะรวมเป็นวัดเดียวกัน ทรงดำริเห็นชอบให้รวมกันและให้เรียกชื่อว่า วัดเสาธงทอง  เป็นวัดเก่าแก่ตั้งแต่ครั้งโบราณซึ่งกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงสันนิษฐานว่า พระวิหารหลวงและพระประธานเป็นฝีมือช่างแบบสมัยกรุงศรีอยุธยา อย่างน้อยคงสร้างมาตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช วัดเสาธงทองตั้งอยู่บนเนินดินที่สูงกว่าที่อื่น ๆ และตั้งอยู่ใจกลางเมืองลพบุรี มีเนื้อที่ประมาณ 15 ไร่
1 งาน โดยรอบวัดมีถนนเข้าวัดทั้งสี่ด้าน

วัดนี้มีโบราณสถานที่ควรชม คือ พระวิหารซึ่งเดิมคงสร้างขึ้นเพื่อเป็นศาสนสถานของศาสนาอื่นเพราะจากแผนที่ของช่างชาวฝรั่งเศสทำไว้ ระบุว่า พื้นที่บริเวณนั้นเป็นที่พำนักของราชทูตชาวเปอร์เซีย พระวิหารหลังนี้อาจเป็นที่ประกอบพิธีทางศาสนาอิสลามของชาวเปอร์เซียก็เป็นได้ นอกจากนี้ ก็มีตึกปิจู ตึกคชสาร หรือตึกโคโรซาน เป็นตึกเก่าสันนิษฐานว่าใช้เป็นที่พำนักของแขกเมือง และราชทูตต่างประเทศชาวเปอร์เซีย โดยตึก
ปิจู มาจากภาษาฝรั่งเศส แปลว่า เล็ก ซึ่งอาจเป็นที่อาศัยของชาวฝรั่งเศสที่มารับราชการ ส่วนตึกโคโรซาน เป็นชื่อเมืองสำคัญเมืองหนึ่งของเปอร์เซีย ซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นตึกที่ใช้รับรองชาวเปอร์เซียที่มาพำนัก กรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2479 

พระวิหารวัดเสาธงทอง เป็นวิหารที่สร้างมาตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช แห่งกรุงศรีอยุธยา เป็นวิหารที่มีขนาดใหญ่ศิลปะอยุธยา เป็นที่ประดิษฐานหลวงพ่อโต เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ขนาดหน้าตักกว้าง 3 วา สูง 4 วา 2 ศอก ถือเป็นพระพุทธรูปที่ศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองลพบุรีมาช้านาน บริเวณของผนังพระวิหารเจาะเป็นช่อง ซุ้มโค้ง ประดิษฐานพระพุทธรูปลักษณะต่าง ๆ ส่วนพระประธานในพระอุโบสถเป็นพระพุทธรูปทรงเครื่องปางห้ามสมุทร

พระเจดีย์ตั้งอยู่ระหว่างพระวิหารหลวงกับศาลาการเปรียญ มีมาแต่ครั้งโบราณ เป็นเจดีย์ก่ออิฐถือปูนฐาน  8 เหลี่ยม กว้าง 9 วา สูง 17 วา ตรงกลางเหนือฐานขึ้นไปมีซุ้มประดิษฐานพระพุทธรูปซุ้มละ องค์ 8 ซุ้ม เหนือขึ้นไปเป็นทรงลังกา

พระอุโบสถมีใบเสมา 2 ชั้น เป็นหินทรายสลัดลวดลายแบบสมัยกรุงศรีอยุธยา และเคยได้รับการบูรณะเมื่อปี พ.ศ. 2470 เพระถูกไฟไหม้ ได้เทคอนกรีตเสริมเหล็กบนทั้งหลัง พระประธานภายในพระอุโบสถเป็นพระพุทธรูปยืนทรงเครื่องปางห้ามสมุทร เนื้อในองค์พระเป็นศิลาทราย มีรูปั้นหุ้มไว้ เป็นฝีมือช่างสมัยกรุงศรีอยุธยา

หอระฆังก่ออิฐถือปูน ฐานกว้าง 2 วา สูง 5 วา (แต่เดิมมี 3 หอ ลักษณะเหมือนกัน แต่ถูกรื้อไป หอ คือ
หอทิศเหนือพระวิหารและกลางวัดส่วนระฆังนำไปแขวนที่หอระฆังใหม่ หน้าศาลาการเปรียญ 2 ใบ) คงเหลืออยู่หอเดียว เข้าใจว่าสร้างรุ่นเดียวกับพระวิหารหลวง

 

ข้อมูลจากจากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี